fbpx

การรักษาสิวสำหรับสตรีตั้งครรภ์

หมอเขียนบทความนี้ขึ้น เนื่องจากคนไข้จำนวนไม่น้อยที่มาปรึกษาปัญหาสิวพร้อม ๆ กับเตรียมตัวเป็นว่าที่คุณแม่มือใหม่ โดยคำถามที่หมอมักถูกถามบ่อย ๆ คือ

  • ยารักษาสิวทำให้ทารกในครรภ์พิการจริงหรือ ?
  • ยารักษาสิวมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ?
  • สามารถซื้อมาใช้เองนาน ๆ ได้หรือไม่ ?
  • ควรรักษาสิวอย่างไรถ้าอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ฯลฯ

ปัจจุบันคนไทย ให้ความสนใจในการดูแลตัวเองมากขึ้นกว่าสมัยก่อน และส่วนใหญ่คิดว่า สิวเป็นแค่เรื่องความสวยความงาม เมื่อมีปัญหาจึงมักซื้อยามาใช้เองหรือปรึกษาช่างเสริมสวยตามค่านิยมของคนไทย อะไรใช้แล้วดีบอกต่อ รวมทั้งความก้าวหน้าของสื่อยุคใหม่ทำให้มีโฆษณาชวนชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รักษาสิว, ผิวหน้าออกมามากมาย แต่ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพตัวเองไม่ควรเชื่อคำโฆษณาง่ายเกินไป อาจทำให้เสียเงินทองและเวลาโดยไม่จำเป็น รวมทั้งบางสื่อมีการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว อาจยังขาดข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง

การรักษาสิวมีหลายวิธี ตามระดับความรุนแรงของปัญหาสิว สำหรับในบทความนี้หมอขอกล่าวถึง การรักษาสิววิธีต่าง ๆ เฉพาะในสตรีตั้งครรภ์นะคะ
เริ่มจากยาทา มีทั้งยาแต้มสิวอักเสบเฉพาะที่ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อสิว, ยาทาละลายหัวสิวอุดตัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

1) BP ชื่อเต็ม คือ Benzyl Peroxide ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มฆ่าเชื้อสิวด้วย เป็นยาที่แพทย์มักให้ทาสิวก่อนล้างหน้า 5-10 นาทีแล้วล้างออก ยาในกลุ่มนี้ปลอดภัยสำหรับสตรีตั้งครรภ์
2) ยากลุ่มกรดวิตามิน เอ เป็นยาที่ใช้ทาเฉพาะกลางคืน เพราะไวต่อแสงไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์
เนื่องจากเหตุผลเดียวกับยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอ ซึ่งหมอจะขออธิบายเหตุผลรวมกับกลุ่มยารับประทานต่อไป

สำหรับยารับประทานรักษาสิวมีหลายกลุ่ม
ยาที่ถูกถามบ่อยที่สุด คือ ยากลุ่มกรดวิตามินเอ (Isotretionin) ยากลุ่มนี้ราคาแพงและมีข้อแทรกซ้อนสูง คือทำให้ปากแห้ง, ตาแห้ง, ปวดศีรษะ, ปวดข้อ ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ เป็นยากลุ่มที่ควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผิวหนังเท่านั้นค่ะ เพราะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาชัดเจน คือ ใช้เฉพาะในสิวที่รุนแรง คือ สิวหัวช้าง, สิวที่ดื้อต่อการใช้ยาปฏิชีวนะ และสิวที่ทำให้เกิดแผลเป็นอย่างรุนแรงบนใบหน้า

ยากลุ่มกรดวิตามินเอนี้ ไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์เด็ดขาด เพราะสามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการได้อย่างมากคือ ทำให้ศีรษะโตหรือเล็กผิดปกติ ในหน้าและตาผิดปกติปัญญาอ่อน หรือหัวใจผิดปกติได้
ผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มนี้จึงต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนได้รับยา ไม่ตั้งครรภ์ระหว่างรับยา และต้องหยุดยาจนครบ 1 เดือน จึงจะตั้งครรภ์โดยปลอดภัยต้องไม่นำยาไปแบ่งให้ผู้อื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และต้องไม่บริจาคเลือดระหว่างรับยา เพราะยาสามารถดูดซึมผ่านกระแสเลือดได้

ส่วนยารับประทานในกลุ่มยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อสิว) ยาตัวที่ไม่ควรใช้ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสิว คือ เตตร้าซัยคลีน (Tetracyclire) เพราะยานี้มีผลเสียต่อตับของแม่ ทำให้ฟันน้ำนมของลูกมีสีเหลือง และมีความผิดปกติเกิดในลูกได้
นอกจากยาที่หมอเล่ามาทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันยังมีการใช้สารเคมีมาทำยาปลอบเลียนแบบยาในกลุ่มต่าง ๆ ที่รักษาสิว จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าทารกไทยในอนาคตจะเสี่ยงต่อความเป็นเด็กพิการสูงมาก

ถ้าอย่างนั้นในสตรีตั้งครรภ์เป็นสิวจะทำอย่างไรดี ?

คำตอบ คือ ไม่ยากค่ะ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ยารักษาสิวบางกลุ่มที่สามารถเลือกใช้ใน
สตรีตั้งครรภ์ได้ และปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกลไปมากจนวงการแพทย์ผิวหนังเราสามารถนำความรู้ในการใช้แสงเลเซอร์มารักษาสิวและปัญหาผิวพรรณได้อย่างปลอดภัยในสตรีตั้งครรภ์ได้ด้วย โดยแพทย์สามารถเลือกเครื่องเลเซอร์ที่ช่วยรักษาปัญหาสิวเฉพาะจุด (Local) โดยไม่เกิดผลข้างเคียงต่อบริเวณอื่นและทารกในครรภ์
หวังว่าบทความนี้คงช่วยให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ได้ความรู้เพิ่มและปรับใช้ระมัดระวังตัวในขณะตั้งครรภ์นะคะ ถ้ามีคำถามอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือเกิดปัญหาสิวขึ้นระหว่างตั้งครรภ์สามารถมาปรึกษาทีมแพทย์ SVJ ถึงการใช้แสงรักษาสิวได้ หมอยินดีให้คำแนะนำทุกเมื่อค่ะ
เรียบเรียงโดย พญ. สุรัติ อัศวานุชิต

:: Share This ::

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *