ยิงเลเซอร์แรงๆได้มั้ยคะ
- ยิงแรงๆได้มั้ยคะ
- ใช้พลังงานสูงๆได้มั้ยครับ
- ถ้ายิงเลเซอร์แรงๆผลที่ได้จะดีขึ้นรึเปล่าคะ
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผมมักจะต้องตอบอยู่ทุกวันครับ และในปัจจุบันผมมีคนไข้มาถามหมอมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะเหตุใดหมอถึงอยากเขียนบทความอันนี้ขึ้นมา เดี๋ยวจะมาเฉลยครับ
ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องของคนไข้คนหนึ่งให้ฟังก่อนครับ คนไข้คนนี้มาหาหมอด้วยปัญหาไปทำเลเซอร์ fraxel มาแล้วเกิดอาการผิวไหม้หรือ burn ครับ ซึ่งก่อนหน้านี้คนไข้คนนี้เคยมาทำ Fraxel กับหมอมาแล้ว 3 ครั้ง ทุกครั้งไม่มีปัญหาอะไร คนไข้ happy กับผลที่ได้ แต่ล่าสุดได้ไปทำ fraxel ที่อื่นเนื่องจากเพื่อนชวนไปทำ คนไข้เล่าให้ผมฟังว่าที่ตัดสินใจทำการรักษาเพราะเหตุผลว่า หมอบอกว่าจะทำพลังงานให้สูงๆ เพื่อจะทำให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ระหว่างการทำ fraxel คนไข้เล่าให้ฟังว่ามันร้อนมากไม่เหมือนทำที่ SVJ ระหว่างการทำก็ไม่มีการพ่นไอเย็น หลังทำก็ไม่มีการทา zinc
เพื่อป้องกันผิว ในใจคิดว่าต้องแย่แน่ๆ เพราะแสบหน้ามาก ซึ่งผลก็ไม่ต่างจากความคิดของคนไข้ครับ คือ มีอาการผิวหน้าคล้ำ เกิด PIH หลังการรักษา อุทาหรณ์เรื่องนี้สอนว่าอย่างไรครับ
หมอยกตัวอย่างง่ายๆครับ การทำเลเซอร์ก็เหมือนการขับรถ การที่เราจะเลือกขับรถให้เร็วๆ เปรียบเสมือนกับการให้พลังงานเลเซอร์ ส่วนสภาพผิวคนไข้ก็เหมือนกับตัวเครื่องยนต์ของรถ ส่วนการให้ความเย็นหรือการเตรียมคนไข้ก่อนและหลังการรักษาเปรียบเหมือนถุงลมนิรภัย
ถ้าเราอยากขับรถให้เร็ว ( อยากยิงพลังงานสูงๆ ) เราต้องเตรียมอะไรบ้างครับ??
ต้องเตรียมระบบ 3G ให้ดีครับ 3G ที่ว่านี้ คือ
1. Good skin คือต้องเตรียมเครื่องยนต์ให้ดี ก็เปรียบเสมือนกับผิวหนังต้องอยู่ในสภาวะที่แข็งแรง ไม่มีอาการผิวบาง หรือ ติดสเตียรอยด์
2. Good Machine คือ ต้องมีเครื่องมือที่ดี เปรียบได้กับการเลือกเครื่องเลเซอร์ให้ถูกต้องก่อนทำการรักษา
3. Good protection คือ ต้องมี เบรกที่ดี ถุงลมนิรภัยดี เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิด เปรียบได้กับการมีระบบให้ความเย็นที่ดี มี zinc สมานแผลหลังทำ
ถ้าองค์ประกอบ 3G นี้ครบครัน ทุกคนคงมั่นใจในการเดินทางว่า 100% เราจะถึงที่หมายโดยปลอดภัย ซึ่งความคิด
3 G เรื่องนี้หมอใส่ใจเป็นอย่างมาก ถ้าขาด G ใดไปถ้าโชคดีก็อาจไม่เกิดความเสียหาย แต่ถ้าโชคร้ายล่ะก็ไม่อยากจะคิดครับ ในการเป็นแพทย์เลเซอร์ที่ดีนั้น เราต้องคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนให้มากๆครับเพราะการแข่งกันเพื่อที่จะใช้พลังงานสูงๆและทำให้ผิวคนไข้ burn เพียงครั้งเดียวนั้น มันไม่คุ้มกับเวลาและสภาพจิตใจที่คนไข้เสียไปครับ หมอฝากเป็นข้อคิดเอาไว้ครับ แต่ตามปกติหมอก็เป็นคนขับรถไม่ช้านะครับ ถ้าถนนโล่งๆ รถยนต์ดีๆก็ใช้ความเร็ว 140-160 km/h
เร็วมั้ยครับ หมอว่าspeed ระดับนี้พอเพียงที่จะให้ไปถึงที่หมายได้ทันใจแล้วครับ เปรียบได้กับพลังงานเลเซอร์ที่ยิงให้คนไข้ในสไตล์หมอครับ แต่ถ้าจะให้ใช้ความเร็ว 200 up ขับโชว์ว่าฉันทำได้ หรืออยากให้ผมขับให้ดู อันนี้หมอขอดูอยู่ห่างๆดีกว่าครับ มันไม่ปลอดภัย
นพ. วิสิฏฐ ศรีสนิท
Diploma in Dermatology
แพทย์ผู้ก่อตั้ง SVJ Laser Clinic