fbpx

รักษาสิวอย่างไรจึงปลอดภัย

สิวเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยรุ่น (วัยที่กำลังเอาใจใส่ตัวเองในเรื่องของความสวยความงามมากที่สุด แต่มีประสบการณ์และทุนทรัพย์น้อยที่สุด) ฉะนั้นในบทความนี้หมออยากจะเขียนให้ผู้อ่านรู้ถึง
1. ต้นเหตุของการเป็นสิว ว่าไม่ใช่เกิดจากฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว
2.ผลข้างคียงของการรักษาสิวแบบต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวจากการรักษาได้

ต้นเหตุของการเป็นสิว

ผู้อ่านจำนวนมากรู้ว่าสิวเกิดจากฮอร์โมนเพศชาย ที่หลั่งออกมากในช่วงวัยรุ่น ทำให้ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันมากขึ้นผิวหน้าจึงมัน หากการทำงานมากผิดปกติจนทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน จะเกิดสิวอุดตันตามมา (comedo)และถ้าสิวอุดตันเหล่านี้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ตามใบหน้า (P.acnes) ยังผลให้เกิดสิวอักเสบเป็นหนองตามมา ในรายที่รุนแรงอาจเป็นฝีบริเวณใบหน้าได้ ซึ่งสิวส่วนใหญ่จะหายได้เอง หากรู้จักวิธีดูแลที่ถูกต้อง

อีกสาเหตุของการเกิดสิวที่ผู้อ่านมักไม่ทราบ คือ การใช้เครื่องสำอางต่าง ๆ ทั้งครีมป้องกันแดด ครีมหน้าขาว ครีมป้องกันริ้วรอย ฯลฯทำให้เกิดสิวได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมุ่งเน้นในเรื่องการโฆษณาให้ความสวยงามทำให้ ประชาชนทั่วไปมีความต้องการที่จะใช้มากขึ้น (โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นสิวได้ง่ายอยู่แล้ว) ฉะนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
สาเหตุสุดท้ายของการเกิดสิว ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังทำการวิจัยกันมากที่สุดในขณะนี้ คือ เรื่องของการกินกับสิว มีรายงานในต่งประเทศพบว่า คนที่บริโภคนมวัว เนย ถั่ว มีอัตราการเกิดสิวมากขึ้นและตามประสบการณ์ของหมอ การรับประทานนม ,เนย , ถั่วเปลือกแข็ง วิตามินรวม , กล้วย , ทุเรียน ข้าวซ้อมมือ และแอลกอฮอล์ จะทำให้ผิวหน้าเป็นสิวได้ง่ายกว่าปกติ
อีกประเด็นที่อยากจะหยิบมาคุยในเรื่องของสิว ก็คือ โทษของการรักษาสิว

การรักษาสิว ทำให้เกิดผลข้างเคียงของการรักษาได้ คือ
1. เกิดสิวเม็ดใหม่
2. เกิดแผลเป็น
3. ทำให้ผิวหน้าบาง อักเสบง่าย หน้าแดง
4. เกิดการแพ้ยาได้ หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ (พบน้อยมาก)

ในขณะนี้การรักษาสิวเป็นที่นิยมมากขึ้น เกิดแนวทางการรักษาขึ้นมากมาย ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าวิธีการใดเหมาะกันตนเองหรือไม่ รักษาแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร หมออยากจะเล่าถึงวิธีการรักษาสิวต่างๆ พอเป็นสังเขปดังนี้

1. การรักษาด้วยยาทาสิว
เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างจะปลอดภัย จะมีบ้างที่เกิดการระคายเคืองต่อผิวหน้า เช่น กรดวิตามินเอ ยาทาเบนซอยด์เปอร์ออกไซด์ (BP) ยาทาแก้อักเสบต่างๆ เช่น คลินดาไมซิน อริโธมัยซิน อาจทำใช้เชื้อP.acne ดื้อยา ส่วนการแต้มสิวด้วยกรดผลไม้ชนิดต่างๆ หรืแม้กระทั่งกรด TCA ยังไม่มีรายงานพบว่าจะช่วยให้สิวยุบตัวได้เร็วขึ้น แต่จะทำให้เกิดแผลเป็นได้ หากใช้ความเข้มข้นสูงๆ ระวังในยาทาสิว ทีมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ในรูปของยาทาแก้แพ้ หากใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหน้าบาง หน้าแดง มีเส้นเลือดผิดปกติ การรักษาจะยุ่งยากมาก เพราะฉะนั้นควรระวังการใช้ยาในรูปยาแก้แพ้ (หาอ่านได้ในบทความถนอมผิวแพ้ก่อนสายเกินแก้)

2. การรักษาในรูปของยารับประทาน
ยารักษาในกลุ่มยาแก้อักเสบ เช่น กลุ่มยาแบคทริม ( Bactrim) และแดบโซน (Dapsone) อาจทำให้เกิดการแพ้ยาหากรุนแรงอาจถึงชีวิตได้
(อุบัติการณ์การเกิดต่ำมาก แต่ที่เขียนเพราะไม่อยากให้น้องๆไปซื้อยากินเอง ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์) ยาเตตราไซคลิน (tetracycline) มีผลทำให้เกิดการคลื่นใส้อาเจียน เกิดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่าย ยารับประทานในกลุ่ม กรดวิตามินเอ หรือที่น้องๆรู้จักกันในชื่อ ยาโร (Roaccutane) ยาในกลุ่มนี้รักษาสิวได้ดีมากแต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็มากเช่นกัน อาทิ ปากแห้ง หน้าตาแห้ง ผิวแห้ง ระดับไขมันในเลือดสูง และที่สำคัญ คือ ก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ ยากลุ่มนี้เป็นยาควบคุมสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ฉะนั้นผู้อ่านไม่ควรซื้อหารับประทานเอง เพราะจะเกิดผลข้างเคียงโดยรู้เท่าไม่ถึงกาลได้
ผลข้างเคียงที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างของการรับประทานยารักษาสิวนานๆ คือผมร่วง ซึ่งหมอพบว่า ขณะนี้มีคนไข้ผมร่วงผิดปกติในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต

3. การรักษาสิวในรูปของยาฉีด
ยาฉีดมักอยู่ในรูปของสารสเตียรอยด์ มีผลต้านการอักเสบเมื่อฉีดยาให้หัวสิวทำให้สิวยุบตัวอย่างรวดเร็วเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนไข้แต่ภายหลังการฉีดสิว 1-2 สัปดาห์ สิวผดไม่มีหัวจะขึ้นใหม่รอบๆรอยฉีดเดิมจากผลของสเตียรอยด์ หากแพทย์หรือคนไข้ไม่เข้าใจก็จะมีการฉีดยาซ้ำเข้าไปอีกทำให้เกิดการสะสมของสเตียรอยด์ใต้ชั้นผิวหนังสิวจึงขึ้นๆยุบๆต่อไปไม่มีหยุด และถ้าฉีดยาลึกลงใต้ชั้นผิวหนังจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นยุบตัวเกิดรอยแผลเป็นขึ้นมาอีก หากคนไข้หรือแพทย์ผู้ทำการรักษามีทัศนะคติในการรักษาสิวแบบนี้ก็จะทำให้เกิดโทษจากการรักษาได้
ยาฉีดอีกประเภท คือ เมโสเธอราปี (Mesotherapy) เป็นการนำสารเคมีหรือตัวยาต่างๆฉีดเข้าไปในผิวหนังชั้นบนโดยใช้เครื่องฉีดยาชนิดพิเศษ ซึ่งขณะนี้มีรายงานการรักษาอยู่น้อยมากในเรื่องการรักษาสิว และตัวยาที่ฉีดก็มีมากมายทำให้ตั้งมาตรฐานในการรักษาได้ยาก ควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการรักษา

4. การรักษาโดยใช้ แสงเลเซอร์
วิธีการนี้เป็นวิธีการใหม่ อาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยการใช้แสงที่มีช่วงคลื่นจำเพาะไปควบคุมทำลายต่อมไขมัน วีธีการรักษาสิวโดยเลเซอร์นี้จะมีผลเฉพาะผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษาได้ผลดี จุดประสงค์ของการใช้แสงเพื่อที่จะลดการใช้ยาและผลข้างเคียงต่างๆ แต่ข้อเสียคือเทคโนโลยีราคาแพง ต้องอาศัยประสบการณ์จากแพทย์สูง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามตัว
ขณะนี้มีการรักษาสิวมากมายหลายวิธี บางวิธีอาจจะผิดแผกไปกับตำราวิชาการซึ่งเกิดจากอุปสงค์ อุปทานของการรักษาที่มีมากขึ้น ทำให้การรักษายิ่งเน้นไปในการทำธุรกิจมากขึ้นแต่หากมาตั้งวัตถุประสงค์ในการรักษาสิวที่ถูกต้อง คือ ปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อนและที่สำคัญคือ ไม่เกิดแผลเป็นจากสิว ก็จะทำให้เรารู้ว่าควรรักษาสิวของตนเองอย่างไรจึงจะเหมาะสม

บทความโดย
นพ.วิสิฏฐ ศรีสนิท
แพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี
Dlploma in Dermatology (Institue of Dermatology BKK)

:: Share This ::